in Manga, Movies

Gundam F91

เด็กยุค 90s แบบเราๆ เคยเห็นชื่อ Gundam F91 ครั้งแรกๆ จากนิตยสาร TV Magazine ในสมัยก่อน และรู้ว่าเป็นกันดั้มฉบับหนังโรงตอนเดียวจบ ที่ฉายในปี 1991 (ชื่อเรื่องตั้งตามเลขปี ทำก่อนไมโครซอฟท์ด้วยซ้ำ)

แน่นอนว่าสมัยนั้นการดูอนิเมะไม่ใช่เรื่องง่าย การได้ดู Gundam F91 จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ก็อาศัยอ่านเรื่องสรุปจากใน TV Magazine เลยพอรู้เรื่องว่าเป็นอย่างไร (ผ่านมาอีกหลายปีก็ได้อ่านมังงะ Crossbone Gundam ซึ่งเป็นภาคต่อของ F91 ตอนที่มีฉบับแปลไทย)

เวลาผ่านมาเกือบ 30 ปี ช่อง Gundaminfo ซึ่งเป็นช่อง official บน YouTube นำมูฟวี่ภาคนี้มาฉายแบบถูกลิขสิทธิ์ เลยมีโอกาสได้ดูจริงๆ สักที

การจะเข้าใจ Gundam F91 ได้ต้องเข้าใจที่มาที่ไปของภาคนี้ก่อน

Gundam ภาคแรกๆ ที่เกิดขึ้นในจักรวาล UC (Universal Century) มีทั้งหมด 4 ภาค เนื้อเรื่องต่อกันหมด คือ

  • Gundam ภาคแรก (RX-78) ฉายในปี 1979 เหตุการณ์ในเรื่องคือ UC0079
  • Gundam Z ฉายในปี 1985 (UC0087)
  • Gundam ZZ ฉายในปี 1986 (UC0088)
  • Char’s Counterattack (ชื่อย่อในวงการคือ CCA) เป็นหนังโรงฉายปี 1988 (UC0093)

เหตุการณ์ใน “จตุรภาค” ที่แกนหลักคือการขับเคี่ยวกันระหว่างอามุโร่กับชาร์ ขมวดปมจบสิ้นไปในภาค CCA หมดแล้ว

Gundam F91 จึงเป็นความพยายาม “รีบูต” ซีรีส์กันดั้มขึ้นมาใหม่ในทศวรรษใหม่ (ยุค 90s) โดยใช้ตัวละครชุดใหม่ทั้งหมด เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในปี UC0123 หรือทิ้งห่างจากภาค CCA นาน 30 ปี

Gundam Reboot

Gundam F91 กลับมาใช้พล็อตคลาสสิคของกันดั้มภาคแรก นั่นคือ เกิดเหตุสงครามอวกาศยึดโคโลนีโดยกองกำลังของชาวอวกาศฝ่ายหนึ่ง บุกโจมตีโคโลนีแบบไม่ทันตั้งตัว ตัวเอกเป็นเด็กหนุ่มที่จับพลัดจับผลูมาเจอหุ่นยนต์กันดั้มรุ่นใหม่ที่กำลังทดสอบ และได้ขับหุ่นยนต์เพื่อเอาตัวรอดจากกองกำลังที่บุกมาได้ เมื่อมาเจอกับยานรบรุ่นใหม่ที่บังเอิญไม่มีนายทหาร-ลูกเรือเจนสนามอยู่เลย ทั้งตัวเอกและลูกเรือจึงได้ออกผจญภัยเพื่อเอาตัวรอด และกลายเป็นจุดพลิกผันสำคัญของสงคราม

พล็อตนี้ถูกใช้ซ้ำๆ ในกันดั้มหลายภาค โดยเปลี่ยนเซตติ้งฉากหลังไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย (ยุคหลังจากนี้ก็คือ V Gundam, Gundam X, Gundam Seed เป็นต้น)

กรณีของ F91 เซ็ตติ้งคือเหตุการณ์ในปี UC0123 ที่ไม่มีฝ่าย Zeon อีกแล้ว ศัตรูกลุ่มใหม่คือ Crossbone Vanguard (ที่หน้าตาเหมือน Zeon) บุกเข้ามายึดโคโลนี่ Frontier เพื่อก่อตั้งประเทศใหม่ชื่อ Cosmo Babylonia เพื่อปกครองอวกาศ และกำจัดมนุษย์บนโลก

ตัวเอกเป็นเด็กหนุ่มชาวอวกาศ Seabook Arno ที่บังเอิญได้มาเจอยานรบที่ขนกันดั้มรุ่นใหม่ F91 และบังเอิญขับกันดั้มได้เฉยเลย (ทุกอย่างอธิบายได้ถ้าคุณเป็น “นิวไทป์”) ในอีกด้าน เพื่อนสาวของเขา Cecily Fairchild ก็พบว่าตัวเองคือ “องค์หญิง” ทายาทของ Crossbone Vanguard

รวบรัดจนดูไม่รู้เรื่อง

ปัญหาสำคัญที่สุดของ Gundam F91 คือพล็อตนี้มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นทีวีซีรีส์ความยาว 50 ตอน มีเวลาให้พูดถึงไดนามิกของตัวละคร ความสัมพันธ์ การเติบโต พัฒนาการทางความคิด เก็บตกรายละเอียดของสงครามมากมาย พอถูกบีบให้ต้องเล่าทุกอย่างภายในหนังความยาว 2 ชม. แต่คงโครงสร้างพล็อตแบบเดิมไว้ มันจึงดูแทบไม่รู้เรื่องเลย (กันดั้มภาคหนังภาคอื่นๆ เอาทีวีซีรีส์มาตัดต่อเป็นหนัง 3 ภาคยาว 6 ชม. ยังดูไม่ค่อยรู้เรื่องเลย แต่ภาคนี้เหลือ 2 ชม. เอง)

เมื่อพล็อตมีโครงสร้างซับซ้อนแต่ถูกบีบ แถมการเล่าเรื่องในเวอร์ชันหนังก็มีปัญหาในตัวมันเองซะด้วย เพราะหนังไม่พยายามอธิบายว่าเกิดอะไร เพราะอะไร โยงไปสู่อะไร เหมือนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉยๆ แต่ไม่อธิบายที่มาที่ไป หนังเลยดูแทบไม่รู้เรื่อง

จริงๆ แล้ว Gundam F91 มีประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่าง ที่น่าจะขยายผลได้อีกเยอะถ้ามีเวลาลงรายละเอียดมากพอ เช่น

  • การขับเคี่ยวระหว่างผู้สร้างกันดั้มรุ่นเก่า (Anaheim) และรุ่นใหม่ (SNRI หรือซานารี่) ที่ให้ผลออกมาเป็นกันดั้มขนาดเล็กลง (Formula Project) ตรงนี้อธิบายไว้เยอะในภาค Gundam F90 ที่เป็นมังงะ
  • ความสามารถของตัวหุ่น F91 เองที่ในหนังก็ไม่อธิบายไว้เยอะ ของใหม่จากภาคก่อนๆ คือ ปืนแบบใหม่ที่เรียกว่า VSBR (สมัยก่อนเรียกว่า เวสเปอร์ เพิ่งมารู้ว่าอ่านผิด) และโล่แบบใหม่ที่เป็นบีมชิลด์ แทนโล่แบบเดิม
  • ปมในใจของ Iron Mask “หน้ากากเหล็ก” ตัวร้ายของภาคนี้ (และพ่อของ Cecily) ที่ถูกเมียทิ้ง และต้องใส่หน้ากากเพื่อควบคุมอารมณ์กราดเกรี้ยวของตน (ซึ่งต่างไปจาก “หน้ากาก” ของภาคอื่นๆ มาก เพราะใส่เพื่อปิดบังตัวตน)
  • ที่มาที่ไปของ Crossbone Vanguard ในฐานะผู้ร้ายรุ่นใหม่ (ที่หน้าตาเหมือน Zeon) แต่พอในหนังไม่มีเวลาอธิบาย ก็เลยไม่รู้เหตุผลและแรงจูงใจเลย ไปอ่านใน Fandom ถึงรู้ว่ามาจากบริษัทผลิตอาวุธอีกรายคือ Buch Concern ที่ก่อตั้งโดยตาทวดของ Cecily อีกที
  • ความสัมพันธ์ของตัวเอกคือ Seabook กับ Cecily ที่ไม่รู้ว่าไปรักกันตอนไหน ปมครอบครัวของทั้งสองฝ่าย ตัดฉับๆ จนไม่รู้เรื่องในภาคหนัง
  • ความสัมพันธ์ของลูกเรือ ที่จับพลัดจับผลูกันมาร่วมสงครามโดยบังเอิญ ตรงนี้เป็นจุดเด่นของกันดั้มตั้งแต่ภาคแรกสุด ภาค F91 เราเห็นเพื่อนร่วมรุ่นของ Seabook มาขึ้นยานกันด้วยเยอะมาก ถ้าเป็นทีวีซีรีส์คงมีไดนามิกตรงนี้เยอะ แต่พอเป็นหนังก็เลยหายไปหมด

กล่าวโดยสรุปคือเสียดายศักยภาพของ F91 และคิดว่าหนังน่าจะทำได้ดีกว่านี้มากๆ ถ้าได้ทำเป็นซีรีส์ฉายทีวี

Late UC Gundam

เส้นเรื่องของ Crossbone Vanguard ถูกขยายผลในภาคต่อคือ Crossbone Gundam (ที่ตัวเอกยังเป็น Seabook/Cecily) แต่ต้องไปรบกับศัตรูรุ่นใหม่คือกองกำลัง Jupiter Empire จากดาวพฤหัส

ส่วนทีวีซีรีส์ที่เป็นภาคต่อจาก F91 คือ V Gundam ที่จับเอาเส้นเวลาที่ไกลต่อไปอีก 30 ปี (UC0153) โดยเป็นพล็อตแบบเดิม แต่ศัตรูกลุ่มใหม่คือ Zanscare Empire การที่มีเวลาเล่าเรื่องด้วยความยาว 51 ตอน จึงลงรายละเอียดได้มากกว่ามาก

F91 และ V Gundam ถือเป็นกันดั้มสองภาคที่เป็น Late UC คือเหตุการณ์เกิดขึ้นหลัง UC100 จบสงคราม Zeon ไปแล้ว (ภายหลังมีภาคอื่นๆ ตามมาคือ Unicorn/Narrative ที่เหตุการณ์เกิดปี UC0096 และภาค Hathaway เกิดปี UC0105 แต่เป็นตัวละครชุดของกันดั้มภาคแรก)