โลกยุค application/content/service ครองเมือง บรรดาผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ที่ไม่มีระบบปฏิบัติการของตัวเอง ก็เริ่มถูกบีบให้ใช้ยุทธศาสตร์ "ฮาร์ดแวร์+บริการ" โดยโบ๋ระบบปฏิบัติการตรงกลางเอาไว้
ตัวอย่างเด่นๆ ที่นึกออก
__Nokia__
- Hardware: Lumia เน้นจุดขายกล้อง
- OS: Windows Phone ไมโครซอฟท์ทำให้
- Service:
- แผนที่ [Here](http://www.blognone.com/node/38042) (ลงแพลตฟอร์มอื่นด้วย)
- เพลง [Nokia Music](http://www.blognone.com/node/40393)
- นำทาง [Nokia Drive](http://www.blognone.com/node/40283) (ให้ WP ค่ายอื่นใช้ด้วย)
__Samsung__
- Hardware: Galaxy ไม่ต้องอธิบาย
- OS: Android
- Service:
- แชท: [ChatOn](http://www.blognone.com/topics/chaton) (ครบทุกแพลตฟอร์ม)
- เพลง: [Music Hub](http://www.blognone.com/node/40394)
__Sony__
- Hardware: Xperia
- OS: Android
- Service:
- เพลง: Music Unlimited (ใช้กับ iOS ได้ด้วย)
- หนัง: Movie Unlimited (ใช้กับ iOS ได้ด้วย)
- เกม: PlayStation Mobile (ใช้กับ Android ค่ายอื่นอย่าง HTC ได้ด้วย)
บริการเสริมพวกนี้ตอนแรกมีสถานะเป็น value added จูงใจให้คนมาซื้อฮาร์ดแวร์ของตัวเอง แต่ทำไปสักพัก เกมธุรกิจก็บีบให้ต้องขยายบริการเหล่านี้ให้เป็นธุรกิจเต็มขั้น หากินกับลูกค้าภายนอกแบรนด์ตัวเองให้ได้ด้วย
มองในแง่นี้แล้ว ค่ายเล็กอย่าง LG/HTC/Motorola ยังตามหลัง "พี่เบิ้ม" เหล่านี้
กรอบการวิเคราะห์นี้มองเฉพาะบริษัทที่รากเหง้าเป็น "ฮาร์ดแวร์" และไม่มีระบบปฏิบัติการของตัวเองเท่านั้น (ซึ่ง Apple/RIM จะอยู่นอกการประเมินนี้ แต่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์แบบ vertical integration เหมือนกัน)
นอกจากนี้ยังมีบริษัทอื่นที่รากเหง้าเป็นแบบอื่น แต่ก็มุ่งสู่ vertical integration เหมือนกัน ตัวอย่างที่ชัดมากคือ Amazon ที่เป็นด้านกลับของบริษัทข้างต้น นั่นคือเริ่มจาก "บริการ" แล้วตามด้วย "ระบบปฏิบัติการ" (ขอยืมมา) ก่อนจะปิดเกมด้วย "ฮาร์ดแวร์" ซึ่งบริษัทจีนหลายแห่งก็ตามรอยเดียวกันนี้มา
บริษัทที่เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการเองทั้งไมโครซอฟท์และกูเกิล ก็พยายามสร้าง "ฮาร์ดแวร์" มาเติมเต็มระบบของตัวเองเช่นกัน (Surface/Nexus)