in Gadgets

Samsung Galaxy Buds+ Review

ก่อนหน้านี้อยู่นอกวงการหูฟังไร้สายมาตลอด เพราะไลฟ์สไตล์ส่วนตัวคือ 1) ไม่ชอบใส่หูฟัง 2) ไม่ค่อยได้ฟังเพลง 3) ขี้เกียจชาร์จ เลยใช้หูฟังแบบมีสายมาโดยตลอด

แต่โลกยุคปี 2020 ที่ video call กลายเป็นสิ่งสามัญ ปริมาณการคอลล์พุ่งทะยาน และเมื่อคนคุ้นเคยกับการคอลล์แล้ว ก็เริ่มมีการคอลล์ตลอดทั้งวัน ซึ่งในบางครั้ง การคอลล์ด้วยหูฟังแบบมีสายมันก็ไม่ค่อยสะดวกนัก (เช่น ตอนขึ้นรถไฟฟ้าหรือกำลังเดินอยู่)

พอความจำเป็นในการมีหูฟังไร้สายจึงจำเป็นขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มมองหาตัวเลือก โดยมีเงื่อนไขส่วนตัวคือ

  1. ซื้อมาคอลล์เป็นหลัก ไม่เน้นฟังเพลง
  2. คุณภาพเสียงไม่ซีเรียสเพราะฟังไม่ค่อยออก ถ้าเสียงไม่แย่จนเกินไปก็เพราะหมด
  3. แบตอึด เพราะขี้เกียจชาร์จ

ตัวเลือกที่มองไว้

มีมิตรสหายแนะนำ Jabra Elite 75t ซึ่งเป็นหูฟังไร้สายสำหรับคอลล์ที่ดีมากตัวหนึ่ง ซึ่งก็เกือบซื้อไปแล้ว (ราคาโปร 11.11 ลดจากราว 6,300 เหลือ 4,700) แต่เกิดเอะใจขึ้นมาว่า หูฟังของซัมซุงลดราคาหรือไม่ และพบว่า Galaxy Buds+ รุ่นของปี 2020 ลดจากราคาเต็มตอนแรก 4,990 มาเหลือ 2,090 บาท (โปร Lazada 11.11) ก็เลยตัดสินใจซื้อตัวถูกกว่าแบบไม่ต้องคิดมาก

แน่นอนว่า Buds+ มีฟีเจอร์บางอย่างด้อยกว่า Elite 75t โดยเฉพาะฟีเจอร์ Active Noise Cancellation หรือ ANC ที่ Buds+ ไม่มี (ซึ่งต้องเทียบกับ Buds Live ตัวใหม่รุ่นกลางปี 2020 จะตรงกว่า) แต่ด้วยราคาที่ต่างกันเกินเท่าตัว บวกกับ requirement ที่ไม่ได้เน้นเรื่องคุณภาพเสียงสำหรับฟังเพลงอะไรมากมาย การไม่มี ANC ไม่ได้มีปัญหามากนักอยู่แล้ว

พอได้มาใช้สักพักหนึ่ง บวกกับอ่านรีวิว Buds+ ของต่างประเทศ (ใช่ครับ ซื้อก่อน อ่านรีวิวทีหลัง) ก็พบว่า Buds+ เป็นหูฟังไร้สายที่น่าประทับใจมากทีเดียว โดยเฉพาะในระดับราคานี้ (2,090 บาท) จึงมาเขียนรีวิวไว้ เผื่อเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ ที่อยากซื้อหูฟังในลักษณะเดียวกัน

รูปลักษณ์ภายนอก

Buds+ เป็นหูฟังไร้สายที่ใช้แนวทางพิมพ์นิยม (ซึ่งต้องให้เครดิต AirPod ที่บุกเบิกแนวทางนี้) นั่นคือเป็นหูฟังไร้สายแบบชาร์จในตลับอีกที ตัวตลับเป็นอุปกรณ์สำคัญอีกชิ้น นอกจากเป็นที่ชาร์จ (แบตก้อนที่สาม) แล้วยังจำเป็นต้องใช้การ “เปิดตลับ” เพื่อแพร์กับฮาร์ดแวร์ตัวอื่นด้วย

หน้าตาของตัวหูฟัง Buds+ คล้ายกับ Buds รุ่นแรก (ที่เสียงรีวิวแย่ในเรื่องคุณภาพเสียง) คือไม่ได้เป็นแนวก้านยื่นออกมาเหมือนกับ AirPod (และอุปกรณ์ที่หน้าตาลอกๆ กันมาของยี่ห้ออื่น) ทำให้ดูไม่จำเจหรือซ้ำซากมากนัก

รีวิวของ Buds ในเว็บไซต์ต่างประเทศหลายแห่งพูดตรงกันว่า ใส่ค่อนข้างสบาย แม้ไม่ถึงขั้น “ไม่รู้สึกว่าใส่อะไรเลย” แบบเดียวกับ Google Pixel Buds (ที่โฆษณาว่า simulate รูหูของมนุษย์จำนวนมาก เพื่อหารูปทรงที่ใส่สบายที่สุด) แต่จากการลองใช้งานคอลล์เป็นเวลานานๆ ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาอึดอัดอะไร และไม่ได้รู้สึกว่ากลัวจะหลุดง่ายแต่อย่างใด

ตัวตลับของ Buds+ ถูกวิจารณ์ว่าใช้วัสดุพื้นผิวแนว glossy คือมันวาวเกินไป เป็นรอยนิ้วมือง่าย (Buds รุ่นแรกไม่ glossy ขนาดนี้) อันนี้เห็นด้วย แต่ในการใช้งานก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรมากนัก

ตัวหูฟังมีน้ำหนักข้างละ 6.3 กรัม เคสหนัก 39.6 กรัม ซึ่งถือว่าค่อนข้างเบาเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระดับใกล้ๆ กัน

ตอนที่ซื้อมีของเหลือให้เลือก 2 สีคือ ดำกับแดง (สีที่หมดสต๊อกคือขาวกับฟ้า มีสีชมพูด้วยแต่ขายเฉพาะในเกาหลี และสีน้ำเงินเข้มในอเมริกา) เลยเลือกสีแดงมาเพราะเจ็บดี โดดเด่น

การเชื่อมต่อ

เนื่องจาก Buds+ มันเป็นอุปกรณ์แบรนด์ซัมซุง แล้วส่วนตัวใช้มือถือซัมซุงอยู่แล้ว การเชื่อมต่อจึงง่ายมากคือ เปิดตลับขึ้นมาครั้งแรก บนหน้าจอมือถือก็ขึ้นมาถามทันทีว่าต้องการแพร์หูฟังหรือไม่ เหตุผลก็เพราะซัมซุงฝังแอพ Samsung Wearable มาให้ในตัวเรียบร้อยแล้ว

แอพ Samsung Wearable เป็นแอพสำหรับรวมอุปกรณ์สวมใส่ของซัมซุงทุกตัว (รวมพวกนาฬิกาด้วย) การเปิดใช้ครั้งแรกต้องดาวน์โหลด “ปลั๊กอิน” (หรือไดรเวอร์) ของอุปกรณ์แต่ละรุ่นมาเพิ่มด้วย ซึ่งกระบวนการเป็นไปโดยอัตโนมัติ ทุกอย่างราบรื่นมาก

การใช้ Buds+ กับอุปกรณ์ซัมซุงด้วยกัน ง่ายจนน่าตกใจ จึงเกิดคำถามว่าถ้าใช้กับอุปกรณ์ยี่ห้ออื่นจะเป็นอย่างไร ที่บ้านมี Pixel 3 อยู่แล้วจึงนำมาลองใช้ด้วยกัน พบว่าการเชื่อมต่อครั้งแรกเป็นการแพร์ Bluetooth ปกติทั่วไป หูฟังใช้งานได้ทันที แต่ตั้งค่าอะไรไม่ได้มากนัก (ต้องทำผ่าน Settings > Bluetooth ของ Android OS)

ทางแก้ก็ไม่ยากคือดาวน์โหลดแอพ Samsung Wearable มาจาก Play Store ก็ใช้งานได้เหมือนกันทุกอย่าง เพียงแต่กระบวนการจะไม่เป็นอัตโนมัติเหมือนกับใช้ซัมซุงนั่นเอง

การเชื่อมต่อกับ iOS ไม่ได้ลองเพราะไม่มีใช้ แต่ในรีวิวต่างประเทศบอกว่ามีแอพ Galaxy Buds ให้ใช้งานเช่นกัน

ส่วนการใช้กับพีซีก็สามารถใช้งานได้ด้วยการแพร์ Bluetooth ตามปกติเช่นกัน แต่ไม่มีแอพสำหรับช่วยตั้งค่าใดๆ ให้

จุดอ่อนอย่างหนึ่งของ Buds+ คือรองรับการเชื่อมผ่าน Bluetooth ได้ครั้งละ 1 อุปกรณ์ (Jabra Elite 75t ได้ 2 ตัวสลับไปมาได้) ตรงนี้เป็นข้อจำกัดที่ต้องยอมรับในหูฟังราคาประมาณนี้ (เข้าขั้นว่ามีก็ดี แต่ก็ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น nice to have)

การใช้งาน

ตัวหูฟังรองรับการสั่งงานด้วยการ “แตะ” เพียงอย่างเดียว ตรงนี้ต่างจากหูฟังบางยี่ห้อ (เช่น Google Pixel Buds ที่รองรับการปาดหรือ swipe ด้วยอีกทาง) การสั่งงาน Buds+ มีทั้งหมด 4 ท่า

  • แตะ 1 ครั้ง = เล่น/หยุดเพลง
  • แตะ 2 ครั้ง = เพลงถัดไป / รับสายโทรศัพท์
  • แตะ 3 ครั้ง = เพลงก่อนหน้า
  • แตะค้างแล้วปล่อย (touch and hold) = ตั้งค่าเองได้จากแอพ

ท่า hold สามารถเลือกได้เป็น เรียก Bixby, เพิ่ม/ลดเสียง, เปิดโหมด Ambient และซัมซุงจับมือกับ Spotify ให้สามารถกดเปิดแอพได้

เท่าที่ลองอ่านในรีวิวต่างประเทศ เห็นบางเว็บบอกว่า Buds+ สามารถเรียก Gooogle Assistant ได้ด้วย แต่เท่าที่ลองเองพบว่าไม่มีให้เลือก (เข้าใจว่าขึ้นกับประเทศ/เฟิร์มแวร์) และการใช้งานกับ Pixel 3 หรือมือถือที่ไม่มี Bixby ในตัว ตัวเลือกนี้จะหายไปเลย เหลือแต่ปรับเสียงกับ Spotify เท่านั้น

ส่วนตัวไม่ได้ฟังเพลงเยอะขนาดนั้น เลยตั้งเป็นปรับเสียงแทน ซึ่งน่าจะได้ใช้งานบ่อยกว่า (หวังว่านะ)

ในแอพ Samsung Wear ยังมีฟีเจอร์ทดลอง (Labs) คือเราสามารถแตะที่ “ขอบ” ของหูฟังเพื่อปรับ-ลดเสียงได้ด้วย ช่วยเปิดโอกาสให้ท่า hold นำไปใช้ตั้งค่าอื่นๆ แทนได้ แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำอะไรขนาดนั้น เลยไม่ได้เปิดใช้งาน

คุณภาพเสียง

อย่างที่ออกตัวไว้ตอนแรกว่า ไม่ได้ซื้อหูฟังนี้มาฟังเพลง คงวิจารณ์เรื่องคุณภาพเสียงเพลงไม่ได้ (หรือถ้าฟังก็ฟังแบบสตรีมมิ่ง คุณภาพเสียงโดนบีบเยอะอยู่แล้ว)

งานหลักในแง่การใช้วิดีโอคอลล์ถือว่าดีเลย เพราะมีไมค์ข้างละ 3 ตัว (เพิ่มมาจากรุ่นก่อนที่มีข้างละ 2 ตัว) ช่วยดักจับเสียงพูดของเรา และแยกออกจากเสียงรบกวนได้ดีขึ้น

อีกฟีเจอร์ด้านเสียงที่น่าสนใจคือ Ambient Sound ที่เอาไมโครโฟนดักฟังเสียงภายนอก แล้วปล่อยบางเสียงเข้ามาในหูฟังด้วย (เช่น เสียงรถยนต์ เสียงประกาศ) ส่วนตัวค่อนข้างชอบเพราะเป็นคนที่ไม่ฟังเพลงตอนเดินไปไหนมาไหน และไม่อยากรู้สึก shut off จากโลกภายนอก อยู่แต่ในโลกของเสียงดนตรีอะไรขนาดนั้น การที่สามารถได้ยินเสียงจากภายนอกด้วย ก็เป็นสิ่งที่ต้องการอยู่แล้ว

เนื่องจากยังไม่เคยได้ใช้ Ambient Sound ตอนออกไปข้างนอกมากนัก เลยยังบอกไม่ได้ว่าช่วยได้แค่ไหน แต่มันสามารถตั้งให้ Ambient Sound ตอนคอลล์ เพื่อให้เราได้ยินเสียงตัวเองชัดเจนขึ้นได้ด้วย

แบตเตอรี่

ตามสเปกแล้ว หูฟังใส่แบตมาให้ข้างละ 85 mAh ส่วนตัวตลับให้มา 270 mAh

สเปกของซัมซุงบอกว่าหูฟังอยู่ได้นาน 11 ชั่วโมง และเพิ่มแบตจากตลับได้อีก 11 ชั่วโมง รวมเป็น 22 ชั่วโมง เรียกว่าใช้กันนานจนลืมชาร์จได้เลย

เท่าที่ลองใช้มาประมาณ 1 สัปดาห์ มีคอลล์ทุกวัน วันละนิดวันละหน่อย ลองเอามาดูวิดีโอ YouTube บ้าง พบว่าแบตในตลับลดเหลือ 62% ยังอยู่ได้อีกนาน ไม่รู้จะได้ชาร์จเมื่อไร อันนี้อึดจริงต้องยอมรับ

อีกฟีเจอร์เล็กๆ ที่น่าสนใจคือ ตัวตลับรองรับการชาร์จไร้สายด้วย (มาตรฐาน Qi) เมื่อนำมาเจอกับฟีเจอร์ Wireless Powershare ของมือถือซัมซุงรุ่นหลังๆ ที่สามารถทำตัวเป็นแท่นชาร์จไร้สายให้อุปกรณ์อื่นๆ ได้ด้วย ทำให้ยามทุกข์เข็ญ เช่น ลืมชาร์จแล้วไม่มีสายอยู่กับตัว เดินทางแล้วลืมสายชาร์จ หรือ โรงแรมมีปลั๊กแค่ช่องเดียว ก็ยังพอเอาตัวรอดได้ด้วยการชาร์จมือถือกับสาย แล้วเอาหูฟังวางชาร์จกับด้านหลังของมือถืออีกที

อันนี้โอกาสใช้คงน้อย แต่ยามลำบากสามารถเอาตัวรอดได้ มีทางเลือกให้ชีวิต ก็น่าจะดีอยู่

สรุป

กล่าวโดยสรุปคือ Buds+ ประทับใจกว่าที่ตั้งใจไว้ตอนแรกมาก พอ requirement ไม่ได้สนใจเรื่องเสียงเพลงมาก เลยมองข้ามจุดอ่อนของ Buds+ เรื่องไม่มี ANC ไปได้ง่าย ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ถือว่าตอบโจทย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน คุณภาพเสียง ฟีเจอร์ และแบตเตอรี่

ผมเคยเขียนไว้หลายโอกาสว่า “ราคาเป็นฟีเจอร์อย่างหนึ่ง” เพราะสุดท้ายแล้วความคุ้มค่าต้องถูกประเมินด้วยราคาอีกที หากเราซื้อ Buds+ ที่ราคาเต็ม 4,990 บาทคงไม่น่าสนใจมากนัก แต่เมื่อซัมซุงนำมันมาเป็นของแถมกับสมาร์ทโฟนรุ่นสูงๆ หรือเริ่มนำมาลดราคาเหลือที่ระดับ 2 พันนิดๆ แบบที่ซื้อได้มา ความคุ้มค่าของมันจึงโดดเด่นขึ้นมาในทันที

ชอบ

  • สีสวยดี
  • ออกแบบดี ใส่สบาย ไม่หลุดง่าย
  • เชื่อมต่ออุปกรณ์ง่าย ฟีเจอร์ในแอพเยอะดี
  • คุณภาพเสียงดีสำหรับวิดีโอคอลล์ ชัดเจน
  • แบตอึดดีมาก
  • ชาร์จไร้สายแบบ Wireless Powershare ได้ด้วย

ไม่ชอบ

  • เชื่อมต่อได้ทีละอุปกรณ์เดียว
  • การสลับอุปกรณ์ที่แพร์ ต้องเอาเข้าตลับใหม่อีกรอบ
  • ไม่มี ANC
  • กันน้ำไม่เยอะ
  • ทำไมรุ่นที่ขายในไทยไม่รองรับ Google Assistant

รีวิวอ่านประกอบ