in Politics

Thailand 2021

มติชนจัดงานสัมมนาออนไลน์ Breakthrough Thailand เชิญปัญญาชน นักคิด มาพูดหลายคน คนที่น่าสนใจที่สุดย่อมหนีไม่พ้น นิธิ เอียวศรีวงศ์ (อีกแล้ว)

อ.นิธิ พูดในหลายประเด็นที่น่าสนใจ และด้วยวิธีที่แหลมคมเช่นเดิม

เศรษฐกิจ: การแจกเงิน vs การจ้างงาน

“ผมคิดว่าเราประคองตัวเองอย่างกระปลกกระเปลี้ยเต็มทน ไม่ใช่เพียงเพราะว่านักท่องเที่ยวไม่เข้าอย่างเดียว ผมคิดว่าวิธีการจัดการเพื่อจะรักษาพลังของประเทศไทย ทำได้ไม่ดีพอเพราะเราไปเน้นเรื่องการแจกเงินมากเกินไป แทนที่จะพยายามรักษาการจ้างงานไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผลก็คือในที่สุด ถ้าโลกเริ่มฟื้นขึ้นมา มีคนต้องการซื้อของมากขึ้น มีคนที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ต้องการซื้อพวกอุปกรณ์อะไหล่ทั้งหลายจากเรา ผมคิดว่าเราจะไม่พร้อม เมื่อเทียบกับประเทศอย่างเวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา อะไรก็แล้วแต่

การเมือง: กบฎในระบบ

สิ่งที่อยากให้จับตามอง คือ กบฎในระบบ เช่น ตำรวจรู้สึกว่า ไม่ไหวแล้วในการีที่จะโดนประชาชนรุมด่าถึงขนาดนี้ เริ่มเข้ามาหาข้อบังคับตามกฎหมายจริงๆ บอกเจ้านายว่าผมทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ ถ้าเป็นอย่างนี้ ผู้พิพากษาระดับล่างๆที่กล้าให้ประกันตัวในคดีที่เขารู้สึกว่า มันเป็นคนมามอบตัวเองแล้วจะไปจับมันไว้ทำไม อย่างนี้เป็นต้น

ขอให้สังเกตการที่ผมเรียกกว้างๆอย่างนี้ว่า กบฎในระบบ ถ้ากลุ่มต่อต้านเคลื่อนไหวยังสามารถดำเนินงานได้ต่อไปในรูปใหญ่ๆ แบบที่เคยผ่านมาแล้ว หรือในรูปเล็กๆ เช่น ติดป้ายทั่วไปอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ก็ตามแต่ จะทำให้การกบฎในระบบเริ่มขยายขึ้น ถ้าระบบไม่สามารถร่วมมือกันในการกดขี่ประชาชนได้ ผมคิดว่าตัวระบบนี้ ถ้ามันไม่ปรับตัวมันเอง มันก็พัง เพราะจุดสำเร็จจริงๆของการเคลื่อนไหว มันอยู่ที่การทำให้ตัวระบบไม่ทำงาน หรือทำงานขัดกันเอง นั่นคือตัวที่ทำให้คุณประสบความสำเร็จได้” ศาสตราจารย์ ดร.นิธิกล่าว

ขบวนการเคลื่อนไหว: ภราดรภาพ + สำนึกสาธารณะ

การเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน หลายต่อหลายครั้งที่เขาดำเนินการอยู่ กระทำขึ้นโดยสำนึกถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน นี่คือสำนึกสาธารณะ ที่ไม่ได้เข้ามาร่วมการชุมนุม เช่น มีวัยรุ่นคนหนึ่ง ต้องนั่งรถเมล์กลับบ้าน แต่มีฐานะดีพอที่จะนั่งแท็กซี่ก็ได้ แต่วันนี้จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ เขารอรถเมล์ แล้วโพสต์ว่า มันเดือดร้อนขนาดไหน ทำไมเราไม่มีรถเมล์ที่ทำให้ทุกคนไม่ต้องรอนาน ไม่ต้องเบียดเสียดกันถึงขนาดนี้ เขากำลังนึกถึงคนที่ไม่เคยเห็นหน้า ไม่เคยรู้จัก รู้แต่ว่ามีคนจำนวนมากที่ต้องทนลำบากในระบบการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ

ถ้าค่าเดินทางของรถไฟฟ้าที่คิดว่าจะมาแทนที่มันแพงขนาดนี้ ก็ไม่ได้ตอบโจทย์เลย เวลาเราพูดถึงการขนส่งในกรุงเทพฯ เรากำลังคิดถึงการแก้ปัญหารถติด หรือคิดว่าคนทุกคนควรมีสิทธิและโอกาสในการเดินทางที่สะดวกสบายด้วยราคาที่เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน คุณคิดตอบอะไรกันแน่ ใน 2 เรื่องนี้

“ผมคิดว่าที่ผ่านมา เราคิดตอบกันว่า รถจะได้ไม่ติด ไม่ได้คิดว่า คนจนจะเดินทางได้สะดวกขึ้นบ้างหรือไม่ เมื่อวัยรุ่นโพสต์แบบนี้ เป็นครั้งแรกที่คนไทยเริ่มคิดถึงคนอื่น ไม่ใช่ว่า รถจะได้ไม่ติด ตัวเองจะได้สบาย

แต่สิ่งที่อาจมองเห็นไม่ชัด คือ สำนึกภราดรภาพ ที่เราเรียกว่าสำนึกสาธารณะ ที่สำนึกว่าคนอื่นกับเราเท่าเทียมกัน และมีเขาอยู่ในการจัดการสาธารณะที่เขาควรได้อย่างเดียวกับที่เราได้

อีกคนที่น่าสนใจคือ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการที่ตามติดเรื่องคนรุ่นใหม่ ซึ่งเขียนแยกเป็นอีกตอน