in Knowledge, Politics

เมื่ออเมริกาเลือกแทงม้าวัคซีนหลายตัว

ณ กลางเดือนเมษายน 2564 สถานการณ์ COVID-19 เปลี่ยนไปจากเดิมมาก เพราะวัคซีนพัฒนาและทดสอบเรียบร้อย เข้าสู่กระบวนการผลิตและแจกจ่าย ทั่วโลกเริ่มฉีดวัคซีนชนิดต่างๆ

ในขณะที่ไทย (และอีกหลายประเทศ) ก็เผชิญกับปัญหาการระบาดรอบใหม่ (ของบ้านเราคือ wave 3) แต่ไทยกลับมีปัญหาเรื่องการจัดหาวัคซีน ยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก

คำว่า “แทงม้าตัวเดียว” จึงกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง คำนี้ถูกเริ่มใช้โดยคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งคณะก้าวหน้า ที่พูดไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม (ในจังหวะที่ข่าวดีเรื่องวีคซีนพุ่งสูง) และวิจารณ์ว่าทำไมรัฐบาลประยุทธ์จึงเลือก “แทงม้าตัวเดียว” คือวัคซีนของ AstraZeneca ที่นำผูกกับโรงงานผลิตของ Siam Bioscience

คำวิจารณ์นี้ทำให้คุณธนาธรถูกฟ้องคดี 112 อย่างไรก็ตาม เรื่องการฟ้องคดีคงไม่ใช่ประเด็นหลักที่บล็อกนี้สนใจ

แต่บังเอิญได้อ่านบทความใน The Atlantic ที่กล่าวถึงยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนของสหรัฐอเมริกา และใช้การเปรียบเทียบแบบเดียวกันเป๊ะ ในเรื่อง “แทงม้า”

A year ago, when the United States decided to go big on vaccines, it bet on nearly every horse, investing in a spectrum of technologies.

ในจังหวะที่ COVID พุ่งสูงในเดือนพฤษภาคม 2020 สหรัฐอเมริกาเลือก “แทงม้าทุกตัว” เท่าที่สามารถทำได้ ซึ่งม้าที่เลือกแทงมี 3 ระดับความเสี่ยง ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำ (นำวัคซีนเดิมมาปรับใช้งาน) ความเสี่ยงระดับกลาง (เทคโนโลยี adrenovirus vector ที่เคยใช้แล้ว แต่วงไม่กว้าง) และความเสี่ยงสูง (mRNA ที่ไม่เคยใช้มาก่อนเลย)

  • The safest bets, in a way, repurposed the technology behind existing vaccines, such as protein-based ones for tetanus or hepatitis B.
  • The medium bets were on vaccines made by Johnson & Johnson and AstraZeneca, which use adenovirus vectors, a technology that had been tested before but not deployed on a large scale.
  • The long shots were based on the use of mRNA, the newest and most unproven technology.

หมายเหตุ: เคยเขียนเรื่องเทคโนโลยี-ประวัติเบื้องหลังวัคซีน mRNA เอาไว้ครั้งหนึ่ง

ตอนนั้นคงไม่มีใครรู้ว่า วัคซีนตัวไหนจะเวิร์ค แต่มาถึงเดือนเมษายน 2021 ผลก็ออกมาชัดเจนแล้วว่า วัคซีน mRNA (Pfizer/Moderna) ให้ผลออกมาดีเยี่ยม ในขณะที่วัคซีนแบบ adrenovirus มีผลข้างเคียงเรื่องลิ่มเลือดอยู่บ้าง

ถ้าพูดในเชิงวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ต้องบอกว่า วัคซีนแบบ adrenovirus ก็ไม่ได้แย่ ให้ผลป้องกันได้ค่อนข้างโอเค ส่วนโอกาสเกิดผลข้างเคียงเรื่องลิ่มเลือด ก็ถือว่าค่อนข้างต่ำ (ในกรณีของ Johnson และ AstraZeneca ที่มีตัวเลขจากการฉีดจริง ส่วนวัคซีนอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีนี้อย่าง Sputnik V ของรัสเซีย ยังไม่มีข่าวเรื่องนี้)

The blood-clot events with the AstraZeneca and J&J vaccines are so rare—appearing in one in 100,000 to one in 1 million vaccine recipients.

“One-in-a-million events are just barely measurable.” That faint signal is especially difficult to see against a noisy background: Some people get blood clots for reasons unrelated to the vaccine, too.

เพียงแต่มันดันมีตัวเปรียบเทียบเป็นวัคซีน mRNA ที่ไม่มีปัญหานี้ เลยทำให้วัคซีนแบบ adrenovirus ดูแย่กว่าพอสมควร

เรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน adrenovirus จะเป็นอย่างไรคงต้องพิสูจน์กันต่อไปในเชิงตัวเลข และสถิติทางวิทยาศาสตร์

แต่แนวทางการลงทุนและจัดสรรควัคซีน ไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์ เพราะมันคือเรื่องนโยบายสาธารณะ มันคือเรื่องการเมือง

คำถามที่ผมสนใจจากเรื่องนี้มี 2 ข้อ คือ 1) อเมริกาเลือกแทงม้าวัคซีนอย่างไร (คำถามย้อนอดีต) และ 2) ประเทศอื่นๆ จะมีแนวทางเรื่องวัคซีนอย่างไรต่อไป

Operation Warp Speed

โครงการวิจัยวัคซีนอย่างเร่งด่วนของสหรัฐอเมริกา มีโค้ดเนมว่า Operation Warp Speed ซึ่งคำว่า Warp Speed นั้นคนที่เป็น Trekkie หรือเป็นแฟน Star Trek คงทราบกันดีว่า ยานอวกาศในเรื่องมีระบบวาร์ป ตัดเส้นทางบินปกติ และมีความเร็วของการวาร์ปที่แตกต่างกันไป

Operation Warp Speed เลือกใช้ชื่อนี้ เพราะต้องการแสดงให้เห็นถึงการลัดขั้นตอนการทดสอบวัคซีนตามปกติ (ที่ใช้เวลาเป็นปีๆ หรือหลายกรณีก็มากกว่าสิบปี) ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะมีความเป็นความตายของมนุษยชาติเป็นเดิมพัน

ต้องให้เครดิตรัฐบาล Trump ไม่น้อยในแง่การผลักดัน Operation Warp Speed (และก็น่าเสียดายในมุมของ Trump ว่าเขาพ้นตำแหน่งไปก่อนที่จะเห็นผลลัพธ์ของโครงการ) โครงการเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2020 และเสร็จสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ใช้เวลารวมประมาณ 10 เดือนเท่านั้น

แผนภาพอธิบาย Operation Warp Speed จากกระทรวงกลาโหมสหรัฐ

Operation Warp Speed เป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน (บริษัทยาต่างๆ) กับภาครัฐ (หน่วยงานอนุมัติอย่าง FDA และหน่วยงานสนับสนุนทางการเงิน-ความพร้อมอื่นๆ) ใช้เงินไปทั้งหมดประมาณ 18 พันล้านดอลลาร์

Operation Warp Speed เลือกวัคซีนที่ผ่านเข้ารอบมาทั้งหมด 6 ตัวจาก 8 บริษัทยา (ยังไม่รวมเงินสนับสนุนด้านการวิจัยเทคโนโลยีการรักษาด้านอื่นๆ ด้วย) ที่มีเทคโนโลยีแตกต่างกัน ได้แก่

  1. Johnson & Johnson (viral vector)
  2. AstraZeneca (viral vector)
  3. Moderna (mRNA)
  4. Novavax (spike protein nanoparticle)
  5. Merck/IAVI (โครงการวิจัยยา ที่ถูกยกเลิกในภายหลัง)
  6. Sanofi/GSK (ทดลองยังไม่เสร็จ)

จะเห็นว่าบางโครงการยังไม่เสร็จ หรือบางโครงการถูกยกเลิกไประหว่างทางด้วยซ้ำ

กรณีของ Pfizer/BioNTech นั้น บริษัท Pfizer เลือกไม่รับเงินสนับสนุนจาก Operation Warp Speed เองเพราะไม่อยากผูกมัด แต่ BioNTech ที่เป็นบริษัทเยอรมัน ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนี

อย่างไรก็ตาม เมื่อวัคซีนของ Pfizer/BioNTech เริ่มพัฒนา ตัวโครงการ Warp Speed ก็สั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้าเป็นเงิน 2 พันล้านดอลลาร์

ในแง่การบริหารจัดการ แนวทางการให้ทุน ปัญหาระหว่างทาง เสียงวิจารณ์อื่นๆ ของ Operation Warp Speed ยังมีประเด็นให้ถกเถียงอีกมาก แต่คงไม่ใช่สาระสำคัญของบทความนี้ ที่สนใจว่า Operation Warp Speed ที่เป็นการเลือกแทงม้าหลายตัว พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ เพราะต่อให้มีบางตัวที่ล้มเหลว หรือให้ผลไม่ดีอย่างที่หวัง แต่ก็มีตัวที่ให้ผลดีเยี่ยม

ม้าเข้าวินทางโน้น แต่ยังไม่มีให้เลือกทางนี้

Operation Warp Speed ทำให้สหรัฐอเมริกามีแต้มต่อเรื่องวัคซีนอย่างมาก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังดราม่ากันอย่างหนักเรื่องผลกระทบของวัคซีน AstraZeneca (โดยเฉพาะในยุโรป) อเมริกาทำแต้มเรื่องการฉีดวัคซีนไปไกล ด้วยพลังของคู่หู mRNA ทั้งสองค่ายคือ Moderna + Pfizer

คำถามที่สำคัญคือ ประเทศอื่นๆ จะทำอย่างไรกันดี เพราะวัคซีนที่ดีที่สุดในตลาดตอนนี้ มีข้อจำกัดเรื่องหายาก (ณ เวลานี้ แต่ต่อไปคงคลี่คลาย) ราคาแพงกว่า (ซึ่งก็คงแพงกว่าต่อไป) และขนส่ง จัดเก็บ และบริหารจัดการลำบากกว่า

The European Union and the U.K. do not have as many mRNA vaccines as the U.S., and less wealthy nations have even less supply. Ultimately, every country will have to do its own benefit-risk calculation.

in the near future, the Pfizer and Moderna vaccines’ limited supply, high price, and distribution challenges will make them functionally unavailable to much of the world. The U.S. can afford, literally, to vaccinate most of its population with Pfizer’s and Moderna’s vaccines. Most other countries cannot.

แนวทางของประเทศอื่นๆ (รวมถึงไทย) คงต้องเป็นการเลือกประเมินกันเองว่า จะฉีดวัคซีนอื่นๆ (ที่ก็ได้ผลดีในระดับหนึ่ง) ไปก่อนสักเท่าไรกันดี จะเลือกฉีดหรือไม่ฉีดใครดี ก่อนที่วัคซีน mRNA จะแพร่หลายและมีราคาถูกพอ จนคนทั้งโลกสามารถเข้าถึงได้